การนอนแบบสีหไสยยาสน์เป็นการนอนตะแคงขวา แขนซ้ายทอดไปกับลำตัว นับเป็นการนอนของผู้มีกิเลสน้อย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพระพุทธรูปส่วนใหญ่จึงนอนแบบสีหไสยยาสน์ โดยพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์มีทั้งหมด 11 ปาง ได้แก่
1. ปางทรงสุบิน พุทธลักษณะ คือ แขนขวาแนบพื้น งอหลังมือขวาจรดไว้ที่แก้ม ศีรษะหนุนหมอน เป็นเหตุการณ์คืน 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนการตรัสรู้เกิดปัจมหาสุบิน พระพุทธรูปปางทรงสุบินที่โด่งดังมากๆ คือ ‘พระนิพพานทรงญาณ’ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
2. ปางทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ พุทธลักษณะ คือ มือขวาประคองศีรษะที่หนุนอยู่บนหมอน พระพุทธรูปปางนี้ เช่น พระนอนที่วัดถ้ำเขาหลวง จ. เพชรบุรี
3. ปางทรงพักผ่อนอิริยาบถแบบมีพระอานนท์ พุทธลักษณะเหมือนกับปางที่ 2 แต่มีพระอานนท์ถวายการอุปัฏฐากอยู่ด้านหลัง
4. ปางโปรดอสุรินทราหู พุทธลักษณะ คือ ตั้งแขนขวาขึ้นรับศีรษะ มีหมอนสามเหลี่ยมรองที่รักแร้ เป็นพุทธประวัติช่วงแสดงปาฏิหาริย์ลดทิฐิมานะของอสุรินทรราหู
5. ปางโปรดพระสุภัททะ พุทธลักษณะ คือ ลืมหา ศีรษะหนุนหมอน จีบมือขวายกขึ้นเสมอแขนซ้าย เป็นช่วงเวลาก่อนปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้กับปริพาชกที่ชื่อ ‘สุภัททะ’ และรับสุภัททะเป็นสาวกคนสุดท้าย
6. ปางพยากรณ์พระอานนท์ ลักษณะเด่น คือ มือขวาแตะสะโพกซ้าย ลืมตา แสดงพุทธประวัติก่อนเสด็จดับขันธประนิพพาน ทรงสอนพระอานนท์ถึงความไม่เที่ยงของสังขารและทรงพยากรณ์ว่าพระอานนท์จะเป็นพระอรหันต์ก่อนการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก
7. ปางปัจฉิมโอวาท พุทธลักษณะเด่นคือพระหัตถ์ขวาจีบนิ้วไว้ที่อก ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพานทรงแสดงปัจฉิมเทศนาแก่ภิกษุเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีใจความว่าสังขารย่อมมีความเสื่อมเป็นของธรรมดา
8. ปางปรินิพพาน ลักษณะเด่น คือ หลับตา มือและแขนขวาวางหงายราบกับหมอนเหมือนคนหมดแรง แสดงพุทธประวัติช่วงเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธรูปปางปรินิพพานที่มีชื่อเสียง เช่น ‘พระพุทธไสยา’ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
9. ปางปรินิพพานแบบลืมพระเนตร พุทธลักษณะเหมือนกับปางที่ 8 เพียงแต่ไม่หลับตา แค่หลุบเปลือกตาลงเล็กน้อย ปางนี้นิยมสร้างกันมากแถบพม่า ในประเทศไทยมีพระพุทธรูปปางนี้ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ
10. ปางอัฐมีบูชาแบบสาวกล้อมรอบ เป็นปางที่มองไม่เห็นองค์พระพุทธรูป มีแค่โลงบรรจุพระศพและเท้าของพระพุทธรูปยื่นออกมานอกโลง มีพุทธสาวกล้อมรอบโลงบรรจุพระศพ เช่น ‘พระพุทธเจ้าเข้านิพพาน’ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
11. ปางอัฐมีบูชาแบบสาวกนั่งเรียงที่ปลายเท้า พระพุทธรูปอยู่ในโลงบรรจุพระศพมีแค่พระบาทยื่นออกมาและมีภิกษุนั่งเรียงกันอยู่ปลายเท้า พระพุทธรูปปางนี้ เช่น ‘พระพุทธรูปปางประชุมเพลิง’ ที่วัดอินทรารามวรวิหาร เขตธนบุรี
พระพุทธรูปปางสีหไสยยาสน์ทั้งหมด 11 ปางมีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่มีคุณค่านอกเหนือไปจากศิลปะและความงามขององค์พระ คือ พุทธประวัติช่วงต่างๆ ที่คอยย้ำเตือนชาวพุทธทุกคนให้ละทิฐิ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท และระลึกถึงความไม่เที่ยงของสังขารอยู่เสมอ